วันศุกร์

ผู้ไม่มีต้นทุน





ตั้งแต่ต้นปี 2559 เรื่อยมาจนถึงปี 2560 นี้

"เขา"ได้ชื่อว่าผู้มีบทบาทในความขยันสร้างประเด็น

แต่ไม่ใช่เพื่อจะปฏิรูปหรือคิดพัฒนาอะไรให้ดีขึ้น

เพียงแต่คอยหาจังหวะทำให้ภาพ"คณะสงฆ์"ดูย่ำแย่ลง

ไม่ว่าเรื่องรถหรู..เรื่องสมบัติวัด..จนถึงพระไม่ควรรับเงิน

ไพบูลย์จะคอยทำหน้าที่เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันจุดไฟขึ้น

จะผิดจะถูกไม่ได้สนใจเพียงขอให้เกิดเป็นกระแส

แล้วให้กองหนุนเช่น"พุทธอิสระ"เดินสายต่อยอดอีกที

ด้วยความที่"ไพบูลย์ นิติตะวัน"เป็นผู้ที่ไม่เคยมี..ต้นทุน

การมาถึงจุดนี้ได้ก็อาศัยดังเช่นที่กระทำอยู่แบบปัจจุบัน

สร้าง"ยี่ห้อ"ขึ้นมาจนพอมีหน้ามีหน้าตาเป็นที่รู้จัก.!!!

ในทางกลับกัน..หากทำผลงานได้เข้าตากรรมการ

จับพลัดจับผลูอาจจะได้ตำแหน่งอะไรบ้างในรัฐบาลหน้า

อย่างน้อยก็คอยกลบเกลื่อนในเวลาที่รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ

เหมือนอย่างเรื่อง"กระบะ"ท้ายปิกอัพที่เพิ่งโดนจัดหนักมา

ไพบูลย์จึงขันอาสา"เบี่ยง"เพื่อกลบกระแสจากหน้าสื่อ

ให้"ลุงตู่"ได้มีเวลาพักหายใจเพราะโดนไปหลายหมัด

แล้วอย่างนี้ยังจะไม่ซึ้งใจในความรักภักดีของไพบูลย์

เลี้ยงเอาไว้"ใช้งาน"ก็ดูจะใจดำไปหน่อยน๊า..คุณลุงตู่!!!


>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

วันเสาร์

มันคือวันสำคัญ





"อาทิตย์ต้นเดือน"การรอคอยของชาวธรรมกาย

เพราะมันยิ่งกว่าการมาวัดแบบปกติธรรมดาทั่วไป

แต่มันคือการ"คืนสู่เหย้า"เพื่อได้พบปะพี่น้องวงบุญ

ที่แยกย้ายกันออกไปทำหน้าที่ของแต่ละบุคคล

ได้กลับมาร่วมกัน"บูชาข้าวพระ"

จึงเป็นบุญพิธีที่ทุกคนเฝ้ารอคอยด้วยใจจรดจ่อ

ไม่ว่าจะอยู่ทวีปไหนหรือมุมไหนของโลก

ต่างเวลาแต่ใจเดียวกันคือ..เวลาธรรมกาย

ที่จะได้ร่วมกันประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์

เติมบุญเติมบารมีเป็นเสบียงข้ามภพข้ามชาติ

สำหรับการเดินทางในวัฏฏสงสารอันยาวไกล

เพราะ"เป้าหมาย"ของเรานั้นคือที่สุดแห่งธรรม.!!!

>>>>>>>>>>>>>>>>>>

วันศุกร์

ใครทำสังคมปั่นป่วน?


พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.พศ. ที่ย้ายข้ามฝากมาจาก DSI

วัดพระธรรมกายสร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์

ให้เป็น"บุญสถาน"สำหรับผู้ที่ต้องการมาแสวงบุญ

อีกทั้งยังมีความมุ่งมั่นจะสร้างพระหรือศาสนทายาท

เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้คงอยู่คู่ชาติไทย

โดยใส่ใจทั้งคันถธุระคือการส่งเสริมให้เล่าเรียนบาลี

จนมี"ผลสอบ"เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วทั้งสังฆมณฑล

แต่สุดแสน"พิกล"ด้วยข้อหาว่าสอนผิดพระธรรมวินัย

อีกทั้งวิปัสสนาธุระก็จัดเตรียมสถานที่ให้แก่สาธุชน

ผู้มีความรักใคร่ในการประพฤติปฏิบัติธรรม

ได้มีโอกาสปลีกวิเวกหลีกเร้นไปหลับตาทำสมาธิ

เพื่อจะได้เพิ่มพลังใจกลับมาต่อสู้กับชีวิตประจำวัน

ช่างน่า"ขบขัน"ที่สถานที่เหล่านั้นกลับถูกห้ามมิให้ใช้

ทั้งยังส่งเสริมเยาวชนของชาติให้มีโอกาสศึกษาธรรม

โตขึ้นเป็นอนาคตของชาติที่มีทั้งความเก่งและความดี

แต่"ผลงาน"เหล่านี้กลับถูกมองว่ากำลังมอมเมาสังคม

จากคดีส่วนบุคคลจนมาเป็นการ"ปิดล้อม"ธรรมกาย

และวันนี้ยังขยายผลไปสู่การควบคุมบริหารจัดการวัด

ใครกันแน่ที่กำลังทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย.???

วัดพระธรรมกายมิเคยยกพวกไปเดินขบวนเรียกร้อง

หรือพยายามจะก่อความไม่สงบใดๆขึ้นในสังคม

มีแต่ถูกฝ่ายจนท.รัฐที่พยายามจะเอาเรื่องความมั่นคง

สร้างกระแสมาโยนลงไว้ที่พระและวัดพระธรรมกาย.!!!


>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

สร้างสรรค์หรือทำลาย



พ.ต.ท.พงศ์พร ผอ.พศ เสนอแนวทางดำเนินการต่อมหาเถรสมาคม

ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติหลายพันปี

แทบไม่เคยมีช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากศึกสงคราม

เพราะหากมิใช่รบกับต่างแคว้นต่างชาติพันธ์

ก็เปิดศึกแย่งชิงความเป็นใหญ่ในหมู่เหล่าตนเอง


เพราะตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์ย่อมยังไม่บริสุทธิ์ 100 %

จิตจึงเจือด้วยความโลภความโกรธและความหลง

ยังติดอยู่ในอารมณ์ อำนาจ และลาภ ยศ สรรเสริญ 

การตัดสินใจจึงมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้มากมาย

ไม่ว่าจะหมุนเวียนเปลี่ยน"ผู้ปกครอง"ไปกี่ยุคกี่สมัย

ก็เป็นดัง"เหล้าเก่าในขวดใหม่"เพราะกิเลสยังคงตัวเดิม


พระพุทธศาสนาอย่างน้อยก็สืบทอดกันมากว่า 2500 ปี

ถือเป็น"องค์กร"ที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

เพราะผู้ที่ทรง"สถาปนา"ขึ้นเป็นผู้ที่ห่างไกลจากกิเลสแล้ว

มิได้มีความปรารถนาเยี่ยงปุถุชนคนสามัญทั่วๆไป

แต่เป็นผู้ที่พ้นโลกแล้วและได้ทรงทิ้ง"มรดกธรรม"นี้ไว้ให้


คณะสงฆ์ยึดมั่นอยู่ใน"ธรรมและวินัย"ของพระพุทธองค์

ไม่ตัดทอนคำสอนหรือสิ่งที่พระองค์ได้ทรงบัญญัติไว้

และจะไม่บัญญัติในสิ่งที่พระองค์มิได้ทรงบัญญัติขึ้น

"คณะสงฆ์"จึงปกครองหมู่สงฆ์ด้วยดีมาได้จนถึงทุกวันนี้


แต่การที่จะให้"ฆราวาส"เข้ามาเป็นใหญ่เป็นประธาน

ตัดสินชี้ขาดในการบริหารงานของพระพุทธศาสนา

รวมถึงการออกกฎระเบียบต่างๆเพื่อให้พระปฏิบัติตาม

โดยอ้างว่าเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของภาพรวม

จึงมองเป็นอื่นไปมิได้นอกจากความต้องการจะทำลายสงฆ์.!!!


>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

วันพุธ

หลักการชีวิต





พระเทพรัตนสุธี..​สมศักดิ์ โชตินฺธโร

หรือหลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี

ท่านเป็นคนบางยี่โถ จ.ปทุมธานีโดยกำเนิด

บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 14 ปีที่วัดเขียนเขต

ตั้งใจจะบวชหน้าไฟแค่ 7 วันให้โยมลุงที่เสียชีวิต

แต่คงเป็นบุญเก่าของท่านและบุญของพระศาสนา

ที่จะได้"เพชรเม็ดงาม"ผู้เพรียบพร้อมด้วยศีลาจารวัตร

จึงทำให้ท่านเกิดเปลี่ยนใจอยู่ต่อเพื่อศึกษาพุทธธรรม

นอกจากจะรักในคันถธุระคือการศึกษานักธรรมบาลีแล้ว

ท่านยังเชี่ยวชาญในวิปัสสนาธุระตามแนวสติปัฏฐาน 4

ทำให้ท่านมีจิตใจมั่นคงไม่หลุดไปกับอารมณ์และโลกธรรม

การที่ท่านเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อคดีของธรรมกาย

จึงมิวายที่จะต้องรองรับแรงกดดันนานัปประการ

รวมถึง"คำสั่ง"ที่ต้องให้เป็นไปดังที่หลายฝ่ายต้องการ

ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและสื่อบางสำนักที่คอยเสนอข่าวชี้นำ

แต่ท่านก็ยังยืนหยัดอยู่บนธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม

มิได้ผ่อนปรนไปตามกระแสสังคมแม้จะไม่ถูกใจคนทั้งหลาย

เพราะนี่ก็คือวิสัยของผู้นำที่มีคุณธรรมและมากไปด้วยเมตตา

สมกับศักดิ์ฐานะของ"หลวงพ่อ"ผู้ชื่อว่ารักในความยุติธรรม

ยอมที่จะถูกผู้ที่ยังไม่เข้าใจว่ากล่าวให้ร้ายและติฉินนินทา

แต่ว่าจะไม่มีทางยอมกระทำผิดต่อ"หลักการ"ของชีวิต.!!!


>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

วันอาทิตย์

อารมณ์สบาย



คำสอนอันทรงคุณค่า..

"ถ้าทั้งวันทั้งคืน มีอารมณ์ดี อารมณ์สบายตลอดเวลา

ก็จะทำให้ง่ายต่อการฝึกใจ ให้มันหยุด ให้มันนิ่งได้

อารมณ์ดี อารมณ์สบาย เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

สำหรับผู้ที่มีมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสาร

หวังจะทำพระนิพพานให้แจ้ง

แล้วก็ต้องหมั่นสอนตัวเองให้ได้ทุกวัน ให้ได้ทั้งวัน

สิ่งใดที่เป็นบาปอกุศล เราก็เพียรลด ละ เลิก

สิ่งใดที่เป็นกุศล ก็เพียรทำให้มันเจริญ

นึกถึงบุญ นึกถึงความดี ความบริสุทธิ์ของเรา

แล้วก็ทำใจให้ใสๆ นึกบ่อยๆ ความใสจะมาเอง

แล้วก็จะเพิ่มความใส ทวีขึ้นไปเรื่อยๆ

ใจก็จะย่ิงมีปิติ มีความสุข จะเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตา

มีอารมณ์เป็นหนึ่ง เป็นกลางๆ บริสุทธิ์ แล้วก็มีความสุข"

>>>>>>>>>>>>>>>>>

วันเสาร์

จิตใจพระโพธิสัตว์




มีความพยายามจะสร้างวาทะกรรมต่างๆนาๆ

เพื่อให้ดูว่าวัดพระธรรมกายสอนให้คนงมงาย

เช่นคำว่า.. ซื้อบุญหรือทำบุญจนหมดตัว

แม้กระทั่งคำว่า..ทำมากกว่าก็ได้ไปสวรรค์ชั้นสูงกว่า

ล้วนแต่เกิดจากผู้ที่ไม่เข้าใจหรือไม่อยากจะเข้าใจ

จนแผ่ขยายในวงกว้างเกิดเป็นความ"หลงเชื่อ"

ทำให้ผู้ที่ไม่เคยศึกษาเรื่องราวความจริงของชีวิต

ไม่เคยได้ฉุกคิดและ in ไปในวาทะกรรมเหล่านี้

จนสูญเสียโอกาสเรียนรู้ตัวอย่างดีๆใน"พระไตรปิฎก"

วัดพระธรรมกายมิเคยสอนให้คนทำบุญแบบที่กล่าวนี้

เพียงนำเรื่องการสร้างบารมีของสัตตบุรุษในกาลก่อน

มาสอนให้สาธุชนทั้งหลายได้เรียนรู้ถึงการ"ขยายใจ"

รักในการให้ทานซึ่งก็ตรงกันข้ามกับคำว่า..โลภ

มันจึงเป็นอะไรที่ฝืนกับความรู้สึกของผู้ที่ไม่เคยได้สัมผัส

กับคำว่า"ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก"เพราะไปมักคุ้นกับการรับ

มือใครยาวก็สาวได้สาวเอา.. ยิ่งมากก็ยิ่งดี

เพราะฉะนั้น..จงอย่าได้เอาความคิดแบบ"ชูชก"

มาสร้างวาทะกรรมกลบความดีของพระเวชสันดร.!!!

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>